เมื่อกาแฟและชานมไข่มุกไม่ใช่กระแส...แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนกมัพูชา

            โดย...วิลาสินี แจ่มอุลิตรัตน์

          ตอนประจำการอยู่ที่กัมพูชาเคยเขียนบทความเรื่องนี้ เอาไว้ เลยขอเอามาเก็บไว้ใน Blog ตัวเองซะหน่อยนะคะ 😊


             ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้ไปร่วมแสดงความยินดีในโอกาสการเปิดร้านกาแฟ ร้านชา ของผู้ประกอบการไทยเยอะมากๆๆ รวมทั้งมีโอกาสได้ไปชิมเกือบทุกแบรนด์ที่เปิดใหม่ ซึ่งจะว่าไปช่วงนั้นเป็นช่วงที่กระแสร้านกาแฟและชาไข่มุกได้รับความนิยมถึงขีดสุด ในทุกมุมถนน ในระยะ 400-500 เมตร เวลาขับรถผ่านเราจะเจอร้านกาแฟจ้า ไม่ใช่ร้านกาแฟชาวบ้านๆ แบบที่ทุกๆ คนคิดนะ แต่มันคือ ร้านกาแฟระดับ premium แนว Starbucks กันเลยทีเดียว ใครที่ขาดกาแฟไม่ได้ และมีแผนจะไปทำงานหรือไปเที่ยวในกัมพูชา บอกได้เลยว่าไม่ต้องกลัวจะหากาแฟกินไม่ได้จ้า เพราะมีให้เลือกจนเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว....ว่าแล้วเราก็ไปดูกันเลยดีกว่าว่าเทรนด์เรื่องชากาแฟของคนกัมพูชาเนี่ยเค้าเป็นยังไงกันบ้างนะ ? ตามมาค่ะ...จะเล่าให้ฟังค่ะ

        ร้านกาแฟกับไลฟ์สไตล์แนวใหม่ของคนกัมพูชา  

         ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชาเปลี่ยนไป ในวันว่างๆ ชาวกัมพูชา โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน จะไปนั่งจิบกาแฟ พบปะสังสรรค์ หรือนัดคุยธุรกิจกันตามร้านกาแฟที่มีบรรยากาศดีๆ น่านั่งกันมากขึ้น ส่งผลทำให้ธุรกิจร้านกาแฟได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดกัมพูชา และมี แบรนด์ต่างชาติทยอยเข้ามาเปิดตัวกันอย่างต่อเนื่อง

            สำหรับร้านกาแฟแบรนด์ของไทยมีเข้ามาในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิเช่น Amazon, Black Canyon, True Coffee, Inthanin, Arabitia, ดอยช้าง, ดอยหล่อ และชาวดอย เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าปัจจุบันร้านเครื่องดื่มแบรนด์ไทยมีสัดส่วนการครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 จากจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา โดย Amazon ยังคงเป็นที่นิยมและสามารถขยายสาขาได้มากถึง 140 กว่าสาขาทั่วประเทศ โดยในแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์การเข้ามาทำตลาดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในรูปของการขายเฟรนไชน์เต็มรูปแบบ เจ้าของแบรนด์เข้ามาบริหารจัดการเอง หรือขายวัตถุดิบ เป็นต้น

       

                                                                  *ข้อมูลปี 2562

สำหรับแบรนด์ที่น่าจับตามองในตลาดกัมพูชา แบรนด์แรก คือ Brown Coffee กาแฟชื่อดังของกัมพูชาที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเริ่มแรกเดิมทีนั้น เจ้าของได้แนวคิดจากประสบการณ์ระหว่างการไปศึกษาที่ออสเตรเลียและอเมริกาและมองเห็นวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์การดื่มกาแฟของฝั่งตะวันตกจึงมีความคิดที่อยากจะนำร้านกาแฟแนวใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาเปิดในกัมพูชาบ้าง ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟแนวนี้ในกัมพูชา โดยเริ่มแรก Brown มุ่งเน้นที่จะให้บริการกับกลุ่มคนต่างชาติซึ่งมาทำงานในกัมพูชาเป็นหลัก แต่ต่อมามีจำนวนคนกัมพูชาที่จบการศึกษาจากประเทศเหล่านี้เริ่มกลับมาอยู่อาศัยในกัมพูชามากขึ้น ประกอบกับกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ร้าน Brown ได้รับความนิยมจากคนท้องถิ่นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนทำให้มีนักธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติให้ความสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Brown ยังไม่มีการเปิดขายแฟรนไชส์แต่อย่างใด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีร้านกาแฟแบรนด์ดังๆ จากต่างชาติเข้ามาเป็นคู่แข่งมากมายแต่ Brown ก็ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้ Brown Coffee สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาได้ คือ การพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศร้านที่ดึงดูดน่านั่ง คุณภาพและรสชาติของกาแฟ บริการ รวมทั้งการคิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อมานำเสนอลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ Brown ยังคงครองตลาดกาแฟอันดับต้นๆในกัมพูชา  





สำหรับแฟนพันธุ์แท้อย่าง Starbucks ที่นี่ก็มี ทันสมัยไม่แพ้ประเทศอื่นเหมือนกันนะ แบรนด์ดังสัญชาติอเมริกันแบรนด์นี้ เข้ามาสู่ตลาดกัมพูชาได้ 6 ปีกว่า ขยายสาขาไปแล้วเกือบ 30 สาขาทั้งในพนมเปญและเสียมราฐ แม้ว่า Starbucks จะเป็นแบรนด์ดังที่ติดตลาดทั่วโลกและมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาและนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ Starbucks ยังคงทำการตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น การคิดค้นเมนูใหม่ๆ รวมถึงการตกแต่งร้านและการบริการที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า Starbucks เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารที่ Starbucks เน้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                                

 ล่าสุดร้านกาแฟชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง แบรนด์ % Arabica กาแฟระดับพรีเมี่ยมที่มีมากกว่า 50 สาขาทั่วโลก ที่เพิ่งเปิดตัวในเมืองไทยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่กาแฟแบรนด์นี้ได้เข้ามาเปิดสาขาแรกในกัมพูชาไปตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วที่ตึก Vattanac ตึกหรูกลางกรุงพนมเปญ  โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระดับนักธุรกิจ ผู้บริหาร และกลุ่มชาวต่างชาติ ....คืออยากจะบอกว่า คนกัมพูชาได้ลิ้มลองกาแฟแบรนด์นี้มาก่อนคนไทยอีกนะเนี่ย  

          


            

                                            

ดังนั้น ธุรกิจร้านกาแฟถือว่าเป็นอีกธุรกิจที่เป็นที่นิยมอย่างมากในกัมพูชา และเป็นอีกเทรนด์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในกัมพูชา คือ ต้องการมีกิจการร้านกาแฟเป็นของตนเอง โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของเฟรนไชน์กาแฟแบรนด์ดังๆ จากต่างชาติ จึงทำให้มีนักธุรกิจหลายลงทุนซื้อเฟรนไชน์ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชา หรือบางรายไม่ซื้อเฟรนไชน์แต่สร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเองขึ้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชาเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่ามีปริมาณร้านกาแฟเปิดใหม่เกินกว่าจำนวนผู้ต้องการบริโภคก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟเปิดให้บริการกว่า 300 ร้านในกรุงพนมเปญ และประมาณ 500 ร้านทั่วประเทศ 

        ชานมไข่มุก...เครื่องดื่มยอดนิยมในกลุ่มวัยรุ่น 

     นอกจากกาแฟแล้ว ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มยอดนิยมที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นคงหนีไม่พ้น “ชาไข่มุก” อย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น ในกัมพูชาเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ตามท้องถนน หรือตามศูนย์การค้า จะพบร้านชาไข่มุกตั้งอยู่แทบจะทุกที่...แฟนคลับชาไข่มุกมาที่นี่ก็ไม่ผิดหวังเช่นกัน

     แบรนด์ชาไข่มุกที่เข้ามาทำตลาดในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์พรีเมี่ยมจากประเทศไต้หวัน อย่างเช่น Tiger Sugar, The Alley, Dakasi,  KOI The, Xing Fu Tang และ Chatime เป็นต้น ซึ่งแบรนด์ดังๆ เหล่านี้หลายแบรนด์ได้เข้ามาทำตลาดในกัมพูชาก่อนเมืองไทยเสียอีกด้วย 

สำหรับแบรนด์ไทยก็มีอยู่หลายแบรนด์ที่ขยายตลาดเข้ามาในกัมพูชาได้ ไม่ว่าจะเป็น Fire Tiger, Crown, ชาตรามือ, Kamu, Moma's bubble tea, Rin Rin Bubble Milk Tea และ Nobicha เป็นต้น สำหรับราคามีตั้งแต่ 1.5 - 4 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ซึ่งลูกค้าร้านชานมไข่มุกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา และกลุ่ม take away และ delivery ซึ่งจะแตกต่างจากลูกค้าร้านกาแฟ ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มคนวัยทำงาน มานั่งทำงาน คุยงาน และเจรจาธุรกิจ เป็นส่วนใหญ่ 


                   

                                                         *ข้อมูลปี 2562

   

                           

       การปรับตัวและกลยุทธ์การตลาดในช่วงสถานการณ์ Covid-19  😎

พฤติกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมออกไปนั่งคุย นัดพบสังสรรค์ ตามร้านกาแฟ และชา มากกว่าการสั่งกลับไปกินที่บ้าน แต่หลังจากมีการระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลัวและไม่กล้าออกไปนั่งกินตามร้านเหมือนเช่นเดิม ทำให้ร้านต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญต้องปรับกลยุทธ์การขายใหม่ มาเป็นแบบการขาย online แทน โดยมีทั้งขายผ่าน Line  facebook และที่นิยมมากที่สุดในตอนนี้ คือ ขายผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery ซึ่งมีทั้งแอปฯ ที่มาจากต่างชาติ อย่างเช่น Food Panda, E-Gets และแอปฯ ที่พัฒนาโดยผู้ออกแบบและพัฒนาท้องถิ่น อาทิเช่น Meal Temple, Nham 24, Muuve และ YPP Express  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ร่วมกับการ delivery ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา การปรับ packaging หรือการจัดบริการส่งฟรี เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสามารถเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด 

เล่ามาซะยาว...หลายๆ คนอาจจะมองเห็นโอกาส และถ้าอยากจะเข้าไปเปิดร้านกาแฟหรือร้านชาไข่มุกในกัมพูชาบ้าง จะเริ่มยังไงดีละ ??? ในฐานะที่เคยดูแลตลาดกัมพูชามาก่อนก็จะขอสรุปแนวทางและข้อแนะนำแบบสั้นๆ เผื่อเพื่อนๆ คนไหนสนใจจะเข้าไปลงทุนธุรกิจแนวนี้ในกัมพูชานะคะ 

หาข้อมูลก่อนจ้า ... ก่อนทำธุรกิจต้องรู้เขา...รู้เราก่อนนะ

1)  ควรเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนั้นด้วยตัวเอง จากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น http://ditp.go.th  เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือจากบทความ เว็บไซต์ หนังสือ คู่มือ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ รวมถึงพูดคุยกับบุคคล บริษัท หรือหน่วยงานที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจประเภทนั้นๆ ในประเทศกัมพูชา

2) เดินทางมาสำรวจตลาดในกัมพูชา ทำการนัดหมายเข้าพบหน่วยงาน บริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อมูลและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ หากเป็นไปได้ควรเดินทางมาในช่วงที่มีงานแสดงสินค้าหรือกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมออกงาน หรือสังเกตการณ์ และสร้างสัมพันธ์กับบริษัทหรือผู้ประกอบการในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้อาจต้องมีการเดินทางมาหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและรอบด้านมากที่สุด

3)  รวบรวมข้อมูลทั้งหมด วิเคราะห์ประเมินศักยภาพของประเทศกัมพูชา และศักยภาพของบริษัท เพื่อวางแผนว่าควรจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ร้านกาแฟของตนเองมีเอกลักษณ์ หรือแผนธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่ง 


รูปแบบในการทำธุรกิจ ...แบบไหนที่เหมาะกับเราก็เลือกแบบนั้น 


รูปแบบการทำธุรกิจร้านกาแฟหรือชาไข่มุกในกัมพูชา อาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้



1)   ดำเนินกิจการเอง 100% การเข้ามาลงทุนและดำเนินกิจการเอง 100% เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับร้านที่มีชื่อเสียงเพราะจะทำให้สามารถควบคุมการบริหารจัดการได้เต็มที่ และสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริหารได้อย่างมีมาตรฐาน อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลานานในการเตรียมการ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดหาและฝึกอบรมบุคลากร เนื่องจากบริษัทไทยอาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำธุรกิจในกัมพูชา

2)   ร่วมลงทุนกับกับนักลงทุนท้องถิ่นตามสัดส่วนที่ตกลงกัน การร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นที่เป็นหนึ่งในวิธีที่อาจช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ ทั้งนี้หากได้ผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ ก็จะสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน และทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามควรมีการตกลงทำสัญญา ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนและรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

3) ขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนท้องถิ่น การขายแฟรนไชส์ เป็นวิธีการที่ช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขยายธุรกิจได้ดี อย่างไรก็ตามหากเงื่อนไขแฟรนไชส์มีความซับซ้อนหรือมีการบริหารจัดการที่ยุ่งยาก อาจทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในกัมพูชาไม่สามารถทำตามได้และทำให้ชื่อแบรนด์เสียหายในท้ายที่สุด ดังนั้นควรมีการเข้ามาศึกษารายละเอียดต่างๆให้รอบครอบ เพื่อให้สามารถกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขของแฟรนไชส์ให้มีความเหมาะสม

เลือกทำเลที่ตั้งของร้าน ยังไงให้ปัง !!!

      ทำเลที่ตั้งของร้านเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสำเร็จของร้านชาและกาแฟในกัมพูชา ซึ่งจำแนก ลักษณะของที่ตั้งร้านได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1)    การตั้งร้าน อยู่ในห้างสรรพสินค้า มีข้อดีในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน มีผู้คนสัญจรไปมาจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าจะมาพร้อมกับค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าซึ่งจำกัดอิสระในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของทางร้านเพื่อการส่งเสริมการขายหรือทำการตลาด

2)  การตั้งร้าน Stand Alone นั้น จะทำให้มีอิสระในการดำเนินกิจการต่างๆ แต่ต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบค่อนข้างมาก และต้องดำเนินการศึกษาศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ด้วยตนเอง 

ร้านบางร้านที่ประสบความสำเร็จและอยู่ในกลุ่มบริษัทชั้นนำที่ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในกัมพูชาจากการตั้งอยู่แบบ Stand Alone กลับต้องปิดตัวลงเมื่อเข้าไปอยู่ใน AEON Mall ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แบบครบวงจรแห่งแรกของกัมพูชา มีลูกค้ามากกว่า 15 ล้านคน หมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยแม้ว่าจะมีลูกค้าจำนวนมาก ก็มีเหตุต้องปิดตัวไป เนื่องจากไม่สามารถแบกรับค่าเช่าที่ค่อนข้างสูงได้ ประกอบกับสินค้ามีราคาแพงและไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามยังมีร้านอีกจำนวนหนึ่งที่เปิดดำเนินการในห้างก็ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ที่อยากจะมาลงทุนจึงควรเข้ามาศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ร้านแต่ละร้านได้รับผลตอบรับที่แตกต่างกันออกไป และควรวิเคราะห์ว่าร้านของท่านเหมาะสมกับรูปแบบใดก่อนตัดสินใจเปิดดำเนินการนะคะ 

  หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วกระแสร้านกาแฟและชาไข่มุกจะอยู่ยาวหรือไม่หรือจะมาแค่ชั่วครู่แล้วหายไปเหมือนกับกระแสอื่นๆ ซึ่งเท่าที่ดูจากกระแสตอบรับ และพฤติกรรมผู้บริโภคในกัมพูชาแล้ว สามารถพูดได้ว่าร้านกาแฟและชาไข่มุกไม่ได้เป็นแค่กระแสอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนไลฟ์สไตล์ที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนกัมพูชาแล้วก็ว่าได้ ทำให้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ต้องการเข้ามาขยายตลาดในกัมพูชามากขึ้น การแข่งขันในตลาดจึงรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้น แบรนด์ที่มีการปรับตัว มีการศึกษาวิเคราะห์ตลาดและคู่แข่งมาเป็นอย่างดี มีทำเลที่ตั้งสาขาที่ดี และมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่ง ก็จะสามารถรักษาฐานลูกค้าและอยู่ครองตลาดต่อไปได้ 

                                       

                                         ******************************

ขอขอบคุณ...ผู้สนับสนุน 💖💖💖

  • พี่ จิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผอ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ผู้สนับสนุน ผลักดัน การเขียนบทความต่างๆ ตามไอเดียบรรเจิดที่น้องมีตลอดช่วงระยะเวลาประจำการ
  • มาดาม จีรนันท์ วงษ์มงคล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่น่ารัก เจ้าแม่การค้าแห่งตลาดกัมพูชา ที่คอยเป็นที่ปรึกษาข้อมูลเชิงลึกในทุกเรื่อง
  • น้องๆ Local Staff ชาวกัมพูชา AY Hour Hout, Narith Narin และ Sovandy สำหรับการรวบรวมแบรนด์ชากาแฟต่างๆ มาใส่ Infographic สวยๆ 














ความคิดเห็น